บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง
(Transport Safety Manager : TSM) คือใคร?
ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ หลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรม และหน้าที่ของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager : TSM) พ.ศ. 2564 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 และปัจจุบันมีผลใช้บังคับแล้วซึ่งประกาศดังกล่าวจะใช้บังคับกับผู้ประกอบการขนส่งประจำทางและไม่ประจำทางด้วยรถโดยสาร ผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถบรรทุก และผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลทุกราย
บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง เป็นบุคลากรเฉพาะด้านที่รับผิดชอบในการวางแผน และควบคุมกำกับดูแล
ความปลอดภัยในการขนส่งรวมทั้งมีแผนการจัดการและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุฉุกเฉินมีหน้าที่หลัก 5 ด้าน ได้แก่
- การจัดการรถ
- การจัดการผู้ขับรถ
- การจัดการการเดินรถ
- การจัดการการบรรทุกและการโดยสาร
- และการบริหารจัดการการวิเคราะห์และประเมินผล
เพื่อให้การขนส่งเป็นไปด้วยความปลอดภัย และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการขนส่งทางถนนและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการขนส่งทางถนนในระยะยาวอย่างยั่งยืน
คุณสมบัติของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง
จะต้องผ่านการฝึกอบรมและทดสอบในหลักสูตรที่มีมาตรฐาน ตามระยะเวลาที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
หลักสูตรการอบรมบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager : TSM) โดยมีระยะเวลาการอบรม รวม 18 ชั่วโมง ประกอบด้วย 8 หัวข้อวิชา ได้แก่
- ความปลอดภัยในการประกอบการขนส่ง
- กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบการขนส่ง
- การบำรุงรักษารถและการตรวจความพร้อมของรถ
- การจัดการพนักงานขับรถ
- การวางแผนและปฏิบัติการเดินรถ
- ความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร
- การจัดการเหตุฉุกเฉิน
- การวิเคราะห์และป้องกันอุบัติเหตุ
ใครบ้างที่ต้องมีบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งในองค์กร
บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งจะต้องมีในผู้ประกอบการทุกกลุ่ม แต่จะมีการบังคับใช้ในกลุ่มแรกก่อนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย
- ผู้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร หมวด 1 กทม. และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และหมวด 2 รายเดิมทุกราย
- ผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถโดยสารรายเดิมที่มีรถตั้งแต่ 51 คันขึ้นไป
- ผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถบรรทุกรายเดิมทุกรายที่มีรถขนส่งวัตถุอันตราย
- ผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถบรรทุกรายเดิมที่มีรถตั้งแต่ 101 คันขึ้นไป
- ผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถบรรทุกรายเดิมที่มีรถขนส่งวัตถุอันตราย ตั้งแต่ 6 คันขึ้นไป
- ผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลรายเดิมทุกรายที่มีรถตั้งแต่ 101 คันขึ้นไป
- ผู้ขอรับ (รายใหม่) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง และไม่ประจำทาง (ผู้ขอเป็นนิติบุคคล) ทุกราย
- ผู้ขอรับ (รายใหม่) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกไม่ประจำทางและส่วนบุคคลทุกรายที่มีรถตั้งแต่ 11 คันขึ้นไป
สำหรับผู้ประกอบการขนส่งกลุ่มอื่นจะมีการบังคับใช้ ในวันที่ 1 มกราคม 2567 และวันที่ 1 มกราคม 2568 ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนส่งที่ไม่มีบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งตามที่กำหนดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
ที่มา กรมการขนส่งทางบก (dlt.go.th)