จีพีเอสรถ (Global Positioning System, GPS) หรือเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ เป็นระบบที่ทำการระบุพิกัดของรถ โดยจะบันทึกและส่งข้อมูลไปยังเครือข่ายที่ติดตั้งไว้ ทำให้ทราบรายละเอียดการเดินทางของรถ ซึ่งมีประโยชน์ในด้านความปลอดภัย และยังสามารถนำข้อมูลมาใช้พัฒนาระบบขนส่งได้อีกมากมาย ทางกรมการขนส่งทางบกเล็งเห็นประโยชน์ในส่วนนี้ จึงได้ประกาศให้รถบางประเภท เป็นรถที่ต้องติดตั้ง GPS ตามกฎหมาย โดยต้องเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับส่วนกลางด้วย
1. ทำความรู้จัก ประกาศเกี่ยวกับรถที่ต้องติดตั้ง GPS ตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 : จากประกาศกรมการขนส่งทางบก GPS เป็นอุปกรณ์ที่ถูกกำหนดให้ติดตั้งในรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท, รถตู้, รถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ตามโครงการ “ มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS ” เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้กรมการขนส่งทางบกและผู้ประกอบการ สามารถติดตามพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งน่าจะช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุลงได้ โดยนอกจากจะต้องติดตั้งเครื่อง GPS Tracking แล้ว ยังมีเครื่องบ่งชี้พนักงานขับรถ หรือเครื่องอ่านบัตรแถบแม่เหล็ก (Magnetic Stripe Card Reader) สำหรับรูดใบขับขี่ ที่ต้องติดตั้งพร้อมกันด้วย
อ้างจากประกาศ GPS กรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์และสิ่งของ พ.ศ.2558 สำหรับกรณีที่รถที่กำหนดไว้ ไม่ดำเนินการตามประกาศ หากเป็นรถใหม่จะไม่สามารถจดทะเบียนได้ ส่วนรถเก่าจะไม่สามารถต่อทะเบียนได้ จนกว่าจะดำเนินการติดตั้งให้เรียบร้อย
2. รถที่ต้องติดตั้ง GPS ตามกฎหมาย มีประเภทไหนบ้าง ?
สำหรับรถโดยสารสาธารณะ รถลากจูง และรถบรรทุกทั้งเก่าและใหม่ ต้องดำเนินการติดตั้งเครื่อง GPS Tracker และเครื่องรูดบัตรแถบแม่เหล็กให้แล้วเสร็จ ตั้งแต่สิ้นปี 2562 ที่ผ่านมา โดยยกเว้นรถบางประเภท ได้แก่ รถสองแถว, รถเมล์เล็กในซอย, รถโดยสารที่วิ่งทางหลัก – ทางย่อยเข้าหมู่บ้าน (รถหมวด 4), รถโดยสารประจำทาง ซึ่งระยะทางส่วนใหญ่วิ่งอยู่ภายในเขตภูมิภาค (รถหมวด 1), รถตู้ส่วนตัวที่ไม่ได้รับส่งผู้โดยสาร
2.1 รถโดยสารสาธารณะ
ตัวอย่างเช่น
- รถแท็กซี่ (ป้ายเหลือง) ต้องติด GPS กรมการขนส่งทางบกตามโครงการ TAXI OK ให้เรียบร้อย ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560
- รถตู้ร่วม บขส.
- รถตู้โดยสารประจำทาง
- รถโดยสารประจำทางสองชั้น
- รถโดยสารไม่ประจำทาง
2.2 รถบรรทุก
รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ทั้งรถบรรทุกสาธารณะและรถบรรทุกส่วนบุคคล รวมถึงรถลากจูง เป็นรถที่ต้องติดตั้ง GPS ตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น
- รถตู้บรรทุก
- รถกระบะบรรทุก
- รถบรรทุกของเหลว
- รถบรรทุกยกเทได้ (รถดั๊มพ์)
- รถบรรทุก พร้อมเฮี๊ยบ
- รถบรรทุกติดตั้งเครื่องฉีดปูน
- รถบรรทุกติดตั้งเครื่องฮุกลิฟต์
- รถบรรทุกวัตถุอันตราย
- รถเครน
3. ข้อมูลที่เชื่อมต่อ GPS กรมการขนส่งทางบก
3.1 ข้อมูลของพนักงานขับรถ
จากประกาศกรมการขนส่งทางบก GPS ที่ติดตั้งต้องมีระบบบ่งชี้ผู้ขับรถ (เครื่องรูดใบขับขี่) ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ขับขี่ จากแถบแม่เหล็กบนบัตร หรือเชื่อมโยงเข้ากับฐานข้อมูลอื่นได้ ซึ่งหากไม่รูดบัตรแสดงตน ระบบจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนต่อเนื่อง จนกว่าจะแสดงตนหรือจนกว่ารถจะหยุด
3.2 จำนวนชั่วโมงการขับรถ
เครื่อง GPS Tracker ของรถบรรทุก และรถโดยสาร จะบันทึกข้อมูลและรายงานความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งถ้าขับรถต่อเนื่องเกิน 4 ชั่วโมง โดยไม่ได้หยุดพักอย่างน้อย 30 นาทีก่อนเริ่มขับต่อ หรือระยะเวลาขับรถรวมเกิน 8 ชั่วโมง ในรอบ 24 ชั่วโมง กรมขนส่งจะได้รับรายงานทันที อาจถูกสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ได้สูงสุดถึง 180 วัน และปรับอีกไม่เกิน 5,000 บาท
3.3 ความเร็วในการขับขี่
รถที่ต้องติดตั้ง GPS ตามกฎหมาย จะถูกมอนิเตอร์ความเร็วแบบเรียลไทม์ ทำให้ทั้งกรมการขนส่งทางบกและผู้ประกอบการ สามารถตรวจสอบข้อมูลความเร็วได้อย่างแม่นยำ ซึ่งหากผู้ขับขี่ขับรถเร็วเกินกำหนด ต่อเนื่องเกิน 2 นาที เช่น รถโดยสารขับเร็วเกิน 80 กม./ชม. หรือรถลากจูงขับเร็วเกิน 60 กม./ชม. จะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท
3.4 พฤติกรรมการขับรถ
การติดตั้ง GPS Tracker จะช่วยตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถของผู้ขับขี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มีมารยาทในการขับขี่หรือไม่, เปลี่ยนช่องทางกะทันหันไหม, ชอบแซงในที่ห้ามแซงหรือไม่, จอดรถในตำแหน่งที่ปลอดภัยไหม หรือมีพฤติกรรมใดที่สุ่มเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือไม่
3.5เส้นทางที่ใช้
กรมการขนส่งทางบกจะสามารถตรวจสอบเส้นทาง ที่รถบรรทุกและรถโดยสารทั้งหมดใช้ได้ตามจริง ทำให้สามารถวางแผนควบคุมการจราจรได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวหรือช่วงเทศกาล ส่วนผู้ประกอบการก็สามารถนำข้อมูล มาวางแผนปรับเส้นทาง เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
3.6 พิกัดตำแหน่งของรถ
จากประกาศกรมการขนส่งทางบก GPS Tracker ที่ติดตั้งนั้น จะต้องสามารถส่งตำแหน่งในรูปแบบพิกัดและสถานที่ได้อย่างแม่นยำ ระยะคลาดเคลื่อนไม่เกิน 20 เมตร โดยต้องส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ หรือไม่น้อยกว่า 1 ครั้งใน 5 นาที ซึ่งต้องสามารถบันทึกข้อมูลได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงด้วย
4. สรุป
ตามประกาศของกรมการขนส่งทางบก รถที่ต้องติดตั้ง GPS ตามกฎหมาย ได้แก่ รถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เช่น รถแท็กซี่, รถตู้, รถโดยสารสองชั้น รวมถึงรถลากจูงและรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป โดยต้องติดตั้งพร้อมเครื่องอ่านบัตรแถบแม่เหล็กด้วย ซึ่งที่ GPSDD เรามีเซต GPS Tracker ที่กรมการขนส่งรับรองแล้ว ใช้งานได้อย่างแม่นยำ ถูกต้องตามกฎหมายแน่นอน