ตรวจสภาพรถได้ที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก เช่น สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครทั้ง 5 พื้นที่ สำนักงานขนส่งประจำจังหวัด หรือตรวจที่สถานตรวจสภาพรถยนต์เอกชน (ตรอ.) ทั่วประเทศที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก และมีเงื่อนไขในการเข้าตรวจ ตามประเภทของรถ ดังนี้
รถที่ต้องตรวจกับ ตรอ.เท่านั้น
- รถยนต์ส่วนบุคคล
- รถจักรยานยนต์
รถที่ต้องตรวจกับหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น
- รถที่ดัดแปลงสภาพจากที่จดทะเบียนไว้
- รถที่เปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนแปลงตัวรถ เช่น เปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนชนิดน้ำมันเชื้อเพลิง
- รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์
- รถที่เจ้าของได้แจ้งการไม่ใช้ชั่วคราว หรือแจ้งการไม่ใช้รถตลอดไปไว้
- รถที่มีเลขทะเบียนรุ่นเก่า
- รถที่ถูกโจรกรรมแล้วได้คืน
- รถที่ขาดต่อทะเบียนเกิน 1 ปี
รถที่ตรวจได้กับทั้ง ตรอ. และหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก
- รถทั่วไปทุกประเภท เช่น รถบรรทุก, รถสามล้อ, รถรับจ้าง และอื่นๆ
- รถยนต์ที่น้ำหนักรถเกิน 1,600 กิโลกรัม
- รถของส่วนราชการ
เอกสารการตรวจสภาพรถต่อภาษีใช้อะไรบ้าง
- สมุดเล่มทะเบียนรถ หรือสำเนาทะเบียนรถ
- พ.ร.บ. ที่ยังไม่หมดอายุ
- หนังสือรับรองการตรวจและทดสอบส่วนควบและอุปกรณ์ (ใบติดตั้งแก๊สติดรถ LPG หรือ NGV)
- หนังสือรับรองการตรวจสภาพรถ (สำหรับรถยนต์ที่อายุเกิน 7 ปี แบะรถจักรยานยนต์ที่อายุเกิน 5 ปี)
หากตรวจสภาพรถไม่ผ่านต้องทำอย่างไร
หากตรวจสภาพรถไม่ผ่านจะได้รับแจ้งจุดที่ต้องปรับปรุงหรือแก้ไขให้ทราบ พร้อมกับจะได้รับเอกสารแจ้งผลการตรวจสภาพรถส่วนที่ 2 เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสภาพรถอีกครั้งภายหลังจากที่แก้ไขจุดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเรียบร้อยแล้ว มีระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพรถใหม่ ดังนี้
- ตรวจใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่ผ่านการตรวจครั้งแรก ให้ตรวจเฉพาะรายการที่ไม่ผ่าน และจ่ายค่าตรวจสภาพครึ่งหนึ่งจากปกติ
- ตรวจใหม่เกิน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่ผ่านการตรวจครั้งแรก ให้ตรวจสภาพใหม่ทุกรายการ และจ่ายค่าตรวจสภาพเต็มตามปกติ
ที่มา กรมการขนส่งทางบก