วิธียื่นการชำระภาษีรถยนต์ออนไลน์

เงื่อนไขรถสำหรับยื่นภาษี

รถยนต์เก่าเกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์เก่าเกิน 5 ปี ต่อภาษีออนไลน์ได้แล้ว โดยการยื่นชำระภาษีรถออนไลน์ กรมการขนส่งทางบก ได้เปิดช่องทางให้ผู้ใช้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ยื่นเสียภาษีประจำปี ทั้งรถใหม่ และรถเก่าที่มีอายุการใช้งาน 7 ปีขึ้นไป หรือรถจักรยานยนต์อายุเกิน 5 ปี แต่ต้องได้รับการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) และต้องซื้อพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

สามารถดำเนินการต่อภาษีออนไลน์ได้ที่ได้ที่ : https://eservice.dlt.go.th/esvapp/login.jsf

มีเงื่อนไขดังนี้

    • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3) และรถจักรยานยนต์ (รย.12) ที่จดทะเบียนทุกจังหวัด
    • รถประเภท รย.1, รย.2 และ รย.3 ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปีนับจากวันจดทะเบียนครั้งแรก และรถ รย. 12 ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี นับจากวันจดทะเบียนครั้งแรก ต้องผ่านการตรวจสภาพจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ก่อนชำระภาษี
    • รถประเภท รย.1, รย.2 และ รย.3 ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม หรือที่ไม่ต้องขอรับความเห็นชอบก่อนชำระค่าภาษีประจำปี
    • รถที่ค้างชำระค่าภาษีประจำปี เกิน 1 ปี ต้องผ่านการตรวจสภาพจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ก่อนชำระภาษี
    • ไม่ใช่รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (แก๊ส) ทุกชนิดเป็นเชื้อเพลิง
    • เป็นรถที่มีสถานะทางทะเบียน หรือไม่ถูกระงับทะเบียนเนื่องจากค้างชำระภาษีประจำปี ติดต่อกันครบ 3 ปี
    • ไม่ใช่รถที่ได้รับการยกเว้นค่าภาษีประจำปี
    • ไม่ใช่รถที่ถูกอายัดทะเบียน
    • ชำระภาษีประจำปีล่วงหน้าไม่เกิน 90 วัน ก่อนวันครบกำหนดชำระภาษี
    • และอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้

    เงื่อนไข พ.ร.บ. ประกอบการยื่นชำระภาษี

    ระบบชำระภาษีรถประจำปีผ่านอินเตอร์เน็ต ผู้ยื่นชำระสามารถซื้อกรมธรรม์ได้ทั้งจากในระบบ และซื้อผ่านผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ต้องกรอกข้อมูลให้ถูกต้องตรงตามความจริง และข้อมูล พ.ร.บ. ที่ระบุจะถูกตรวจสอบ และเป็นหลักฐานทางกฎหมาย ถ้าระบุข้อมูลอันเป็นเท็จ ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นความจริง มีผลต่อความคุ้มครองของกรมธรรม์

    • กรณีซื้อกรมธรรม์ผ่านระบบ มีผู้ให้บริการ 2 ราย คือ บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด และบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด
    • กรณีซื้อกรมธรรม์จากภายนอก โดยกรอกข้อมูลบริษัทประกันภัย เลขที่กรมธรรม์ และวันสิ้นสุดอายุความคุ้มครอง (วันสิ้นอายุความคุ้มครองต้องไม่น้อยกว่า 90 วัน นับจากวันที่ยื่นชำระภาษีถึงวันสิ้นอายุคุ้มครองของ พ.ร.บ.)
    • กรมการขนส่งทางบก ขอแจ้งปรับปรุงเงื่อนไขการให้บริการยื่นชำระภาษีรถประจำปีผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับรถจักรยานยนต์ (รย.12) “ยกเลิก” การให้บริการซื้อกรมธรรม์ ตามพ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ผ่านระบบตั้งแต่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป โดยผู้ยื่นชำระสามารถซื้อกรมธรรม์จากผู้ให้บริการภายนอกและนำข้อมูลมากรอกในระบบให้ถูกต้อง เพื่อประกอบการยื่นชำระภาษีรถประจำปีต่อไป สอบถามเพิ่มเติม โทร.1584

    อัตราค่าบริการ

    • ค่าจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ รายการละ 32 บาท
    • ค่าธรรมเนียมธนาคาร (กรณีชำระผ่านเคาน์เตอร์บริการ หรือหักบัญชีเงินฝาก) รายการละ 20 บาท
    • ค่าธรรมเนียมการใช้บัตร (กรณีชำระด้วยบัตรเครดิต) 2% และ VAT 7% ของผลรวมยอดเงินทั้งหมด

    ขั้นตอนการชำระภาษีออนไลน์

    • เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th
    • ลงทะเบียนเพื่อขอรับรหัสผ่าน (สำหรับสมาชิกใหม่)
    • Log-in เข้าสู่ระบบ
    • ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี ที่เมนู “ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี”
    • กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถ เพื่อลงทะเบียนรถ แล้วยื่นชำระภาษี
    • กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานการเอาประกัน ตามพ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (กรณี พ.ร.บ. ที่มีความคุ้มครองมากกว่า 3 เดือน) หรือสามารถซื้อพ.ร.บ. ได้จากระบบ
    • เลือกช่องทางการชำระเงินเพียง 1 ช่องทาง ได้แก่
      • ชำระเงินโดยหักบัญชีเงินฝาก (ต้องมีบัญชีเงินฝากและเป็นสมาชิกใช้บริการโอนเงินผ่านระบบ อินเตอร์เน็ตกับธนาคาร/สถาบันการเงิน)
      • ชำระเงินโดยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต (เป็นผู้ถือบัตรเครดิต/บัตรเดบิต ที่มีสัญลักษณ์ VISA , Master Card) โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ให้บริการรับตัดบัตร
      • ชำระเงินโดยพิมพ์ใบแจ้งชำระภาษีรถแล้วนำไปชำระเงิน ณ เคาน์เตอร์ ตู้ ATM หรือ Application ของธนาคาร/สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ
    • กรณีชำระเงินยังไม่สำเร็จ/ยังไม่ได้ชำระเงิน สามารถเปลี่ยนช่องทางการชำระเงิน ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”
    • สามารถตรวจสอบสถานะการดำเนินการยื่นชำระภาษี สถานะการจัดส่งเอกสาร หมายเลข EMS เลขกรมธรรม์ หรือปัญหาจากการยื่นชำระ ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน” นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบสถานะการชำระเงิน โดยคลิกที่ ปุ่มเครื่องหมายพิมพ์ จะแสดงรายละเอียดการชำระเงินเป็นราย Reference
    • กรมการขนส่งทางบก จะจัดส่งใบเสร็จรับเงินเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี และสมุดกรมธรรม์ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้ผู้ชำระเงินทางไปรษณีย์ตามที่อยู่จัดส่งเอกสารที่กรอกผ่านหน้าเว็บไซต์
    • เจ้าของรถสามารถนำใบคู่มือจดทะเบียนรถไปปรับบันทึกรายการชำระภาษีได้ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ

    ระยะเวลาดำเนินการ

    กรณีที่ยื่นชำระภาษีตามขั้นตอนปกติไม่มีกรณีผิดพลาดหรือต้องตรวจสอบเพิ่มเติม ใช้ระยะเวลาดำเนินการดังนี้

    • เริ่มนับจากวันที่ชำระเงินภาษีรถผ่านธนาคาร/สถาบันการเงิน สำเร็จ
    • ธนาคาร/สถาบันการเงิน จัดส่งข้อมูลการชำระภาษีและจำนวนเงินให้กรมฯ 1 วันทำการถัดไป
    • กระบวนการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข้อมูลและยอดเงินที่ชำระจากธนาคาร/สถาบันการเงิน 1-2 วันทำการ
    • กระบวนการพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน(ป้ายวงกลม) พร้อมจัดเตรียมเอกสารเพื่อนำส่งไปรษณีย์ หลังจากยืนยันความถูกต้องของข้อมูลและจำนวนเงินแล้ว 1-2 วันทำการ
    • จัดส่งเอกสารให้กับผู้ชำระภาษีตามที่กรอกในเว็บไซต์โดยไปรษณีย์ ประมาณ 2-5 วันทำการ

    ** รวมระยะเวลาตั้งแต่ชำระเงินค่าภาษีสำเร็จถึงวันที่ได้รับเอกสารจากไปรษณีย์ ไม่เกิน 5 วันทำการทั้งนี้ สามารถตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการ หมายเลข EMS หรือกรณีพบข้อผิดพลาด ได้ที่เว็บไซต์ ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน” **

    ขั้นตอนขอคืนเงินค่าภาษีรถ

    เงื่อนไขการขอคืนเงินชำระภาษี

    • 1. มีการชำระเงินค่าภาษีถูกต้อง ผ่านระบบชำระภาษีรถยนต์ประจำปีผ่านอินเตอร์เน็ต
    • 2. มีการชำระภาษีซ้ำซ้อนในปีภาษีเดียวกัน ระหว่าง ระบบชำระภาษีรถยนต์ประจำปีผ่านอินเตอร์เน็ตกับระบบชำระภาษีรถยนต์ประจำปีผ่านอินเตอร์เน็ต หรือระบบชำระภาษีรถยนต์ประจำปีผ่านอินเตอร์เน็ต กับระบบชำระภาษีรถยนต์ผ่านสำนักงานขนส่ง หรือระบบชำระภาษีรถยนต์ประจำปีผ่านอินเตอร์เน็ต กับช่องทางชำระภาษีอื่นๆ
    • 3. ตรวจสอบการชำระภาษีซ้ำที่หน้าเว็บไซต์ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน” ที่สถานะการดำเนินการ ‘พบความผิดพลาดติดต่อกรม’

    เอกสาร/หลักฐานประกอบ

    • 1. พิมพ์เอกสารการยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปีผ่านอินเตอร์เน็ต ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน” ที่สถานะการดำเนินการ ‘พบความผิดพลาดติดต่อกรม’ จากนั้นสามารถพิมพ์เอกสารโดยคลิกที่ ปุ่มเครื่องหมายพิมพ์
    • 2. ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีจากกรมการขนส่งทางบกฉบับจริงเท่านั้น
    • 3. สำเนาสมุดคู่มือรถ หน้าที่ระบุผู้ถือกรรมสิทธิ์รถคนปัจจุบัน
    • 4. สำเนาบัตรประชาชนผู้ถือกรรมสิทธิ์รถ
    • 5. ใบมอบอำนาจ (กรณีผู้ถือกรรมสิทธิ์รถไม่ได้ดำเนินการเอง) และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
    • 6. กรณีรถติดไฟแนนซ์ ต้องมีเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
      • สำเนาสัญญาเช่าชื้อ
      • สำเนาบัตรประชาชนผู้เช่าซื้อ
      • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการที่มีอำนาจลงนาม
      • สำเนาใบรับรองบริษัทไฟแนนซ์
      • ใบมอบอำนาจจากบริษัทไฟแนนซ์
    • 7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร สำหรับโอนเงินภาษีคืน

    สถานที่ขอคืนเงินชำระภาษี

    • 1. สอบถามเพื่อยืนยันการได้รับเงินชำระภาษีซ้ำซ้อน ที่เบอร์ 02-271-8888 ต่อ 9313
    • 2. เมื่อได้รับการยืนยันแล้วนำเอกสารหลักฐานยื่นที่ กรมการขนส่งทางบก จตุจักร อาคาร 2 ชั้น 2 งานรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน หรืองานรถจักรยานยนต์
    • 3. เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเอกสารหลักฐานต่างๆ พร้อมกับแจ้งกำหนดการคืนเงินให้ทราบต่อไป
    • ** ทั้งนี้ ขั้นตอนการขอคืนเงินต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการคืนเงินค่าภาษี ดังนั้นให้ตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนการชำระเงินทุกครั้ง

    ที่มา กรมขนส่งทางบก

    Message us